Event :
จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2018 ที่ประชุม FOMC มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ขึ้น 25 bps ไปอยู่ที่ช่วง 1.50 – 1.75% ทั้งนี้ คณะกรรมการ FOMC ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าควรจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่ในช่วง 2.0 – 2.25% ณ สิ้นปี 2018
Implication :
การส่งออกไทยยังคงได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง โดยการปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งในปี 2018 และ 2019 ถือเป็นการยืนยันภาพการขยายตัวที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง สะท้อนถึงอุปสงค์สหรัฐฯ ที่จะเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลดีมาสู่ภาคการส่งออกไทยที่ส่งไปยังสหรัฐฯ โดยถึงแม้จะมีนโยบายกีดกันทางการค้าเกิดขึ้นแต่ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ในสินค้าบางประเภทซึ่งจะไม่ได้ กระทบการส่งออกในภาพรวมปีนี้ มากนัก
การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจไม่กระทบค่าเงินบาทมากนัก ถึงแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ แต่อาจไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีค่าเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ มากนัก เนื่องจากนักลงทุนได้คาดการณ์ไว้บ้างแล้ว ดังนั้นค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จึงอาจไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ หาก Fed ยังคงประมาณการอย่างเดิมในปี 2018
อีไอซีคาดว่า ธปท. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในปี 2018 ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มสูงขึ้นและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.9% ในปี 2017 แต่การขยายตัวดังกล่าวยังคงกระจุกตัวอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลดีจากอุปสงค์จากต่างประเทศ ได้แก่ การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยยังคงอ่อนแอ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ยังแข็งแกร่งและยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงจะไม่ทำให้เกิดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป
ผู้เขียน : ยุวาณี อุ้ยนอง, ที่มา : www.scbeic.com